รายละเอียดเพิ่มเติม
ขาย เมล็ดมะเขือขื่น สมุนไพรอาหารของชาวล้านนา ใช้ผลอ่อน รับประทานทั้งผล เป็นผักจิ้มหรือผักแกง มีรสขมและขื่นเล็กน้อย หรือนำมายำเรียก ส้าบ่าเขือแจ้ หรือใช้ใส่ในน้ำพริก เช่น น้ำพริกอี่เก๋ น้ำพริกบ่าเขือแจ้ เป็นต้น บ้างนำผลแก่ไปเผาสุก ตำให้ละเอียดแล้วผสมลงในเนื้อสับที่จะทำลาบจิ๊น (ลาบเนื้อหรือลาบหมู) ช่วยทำให้ลาบนั้น นุ่มเหนียวขึ้น
มะเขือขื่น มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มะเขือแจ้ดิน มะเขือเปราะ มะเขือเสวย (เชียงใหม่), มังคิเก่ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), เขือเพา (นครศรีธรรมราช), มะเขือขันคำ มะเขือคำ มะเขือคางกบ มะเขือแจ้ มะเขือเหลือง (ภาคเหนือ), เขือหิน (ภาคใต้) เป็นต้น
สรรพคุณของมะเขือขื่น
- ผลมีรสเปรี้ยวขื่นเย็น ใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย (ผล)
- รากและผลมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้สันนิบาต (ราก,ผล)
- ตำรายาไทยจะใช้รากเป็นยาแก้ไข้ที่มีพิษร้อน ช่วยกระทุ้งพิษไข้ (ราก)
- ผลและรากมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไอ (ราก,ผล)
- รากมีรสขื่นเอียน เปรี้ยวเล็กน้อย มีสรรพคุณเป็นยาขับเสมหะและน้ำลาย โดยจะช่วยล้างเสมหะในลำคอ และทำให้น้ำลายน้อยลง ทำให้น้ำลายแห้ง (ราก)
- ผลมีสรรพคุณเป็นยากัดเสมหะ (ผล)
- ช่วยแก้น้ำลายเหนียว (ราก,ผล)
- ใช้แก้อาการปวดฟัน ด้วยการใช้ราก 15 กรัม นำมาต้มเอาน้ำอมในปาก (ราก)
- รากใช้ฝนเป็นกระสายยาแก้เด็กเป็นโรคทรางชัก (ราก)
- ช่วยแก้อาการปวดกระเพาะอาหาร (ไม่ระบุแน่ชัดว่าใช้ส่วนใด)
- รากใช้ปรุงร่วมกับยาอื่น เป็นยาแก้กามตายด้านและบำรุงความกำหนัดได้ผลดีในระดับหนึ่ง (ราก)
- ใช้เป็นยาแก้อัณฑะอักเสบ ด้วยการใช้ 15 กรัม, หญ้าแซ่ม้า 15 กรัม และต้นทิ้งถ่อน นำมารวมกันต้มกับน้ำรับประทาน (ราก)
- ใบสดใช้ภายนอกนำมาตำพอกแก้พิษ แก้ฝีหนอง (ใบสด)
- เมล็ดมีสรรพคุณเป็นยารักษามะเร็งเพลิง (เมล็ด)
- ช่วยแก้อาการปวดบวม ปวดหลัง ฟกช้ำดำเขียว และใช้เป็นยาขับน้ำชื้น (ไม่ระบุแน่ชัดว่าใช้ส่วนใด)
- ใช้เป็นยาช่วยขับลมชื้น แก้อาการปวดข้อเนื่องจากลมชื้นติดเกาะ แก้ไขข้ออักเสบ มือเท้าชา ด้วยการใช้ผลสดประมาณ 70-100 กรัม นำมาตุ๋นกับไตหมูรับประทาน (ผล)
- เนื้อมะเขือขื่นสีเขียวนำมาคั้นเอาแต่น้ำใช้หยอดตาแก่ แก้พยาธิในตา (เนื้อผล)
- สารสำคัญในมะเขือขื่น คือสารอัลคาลอยด์ต่าง ๆ ในทางเภสัชกรรมล้านนา จะใช้สารดังกล่าวเป็นส่วนประกอบในตำรับยาหลายชนิด เช่น ยาบำรุงกำลัง, ยาเสลด (ยาแก้เสมหะและรักษาตาต้อ), ยายางเหลืองมักเป็นขางเขี้ยนขาว (ยารักษาโรคผิวหนัง กลาก เกลื้อน), ยาแก้ไอ ขับเสมหะ แก้อาเจียน รักษาแผลเป็นหนองและหืด เป็นต้น
- ในชนบททางภาคกลางของบ้านเรา จะใช้ใบปรุงเป็นยาร่วมกับใบสมุนไพรชนิดอื่น ๆ และยังเชื่อว่าในท้องถิ่นและภาคอื่น ๆ ของไทย คงนำมะเขือขื่นไปใช้เป็นยารักษาโรคอีกมากมาย แต่ในปัจจุบันยังขาดการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวเป็นเอกสารเผยแพร่ ประกอบกับมียาแผนปัจจุบันเข้ามาแทน จึงทำให้มีการนำมะเขือขื่นมาใช้เป็นยาลดน้อยลง (ใบ)
ประโยชน์ของมะเขือขื่น
- คนไทยนิยมนำผลมะเขือขื่นที่แก่แล้วมาใช้ปรุงเป็นอาหาร โดยจะใช้เฉพาะส่วนเปลือกและเนื้อเท่านั้น (แยกเมล็ดทิ้ง) โดยอาจนำมาใช้กินเป็นผักจิ้มร่วมกับน้ำพริกหรือปลาร้า มีบางครั้งจะใช้เนื้อผลในการปรุงเครื่องจิ้ม เช่น เยื่อเคยทรงเครื่อง ฯลฯ ปรุงอาหารกับส้มผัก เช่น ส้มผักบั่ว ส้มผักกาด หรือจะนำมาใช้ปรุงรสอาหารบางชนิด ฝานเปลือกใส่ในส้มตำอีสาน ส้มตำลาว โดยรสขื่นจะช่วยลดความเค็มของปลาร้าได้ ทำให้ชาติส้มตำมีรสกลมกล่อม หรือนำมาใช้ยำกับสาหร่าย ใช้ตำกับผลตะโกและมะขามที่เรียกว่าเมี่ยง ส่วนในภาคกลางจะใช้เนื้อนำมาทำแกง เช่น แกงส้มมะเขือขื่น แกงป่าต่าง ๆ เป็นต้น ส่วนชาวล้านนาจะใช้ผลอ่อนนำมารับประทานทั้งผล ใช้เป็นผักจิ้มและผักแกง นำมายำ (ส้าบ่าเขือแจ้) ใช้ใส่ในน้ำพริก (น้ำพริกอี่เก๋ น้ำพริกบ่าเขือแจ้) บ้างนำผลแก่ไปเผาให้สุกตำจนละเอียดแล้วผสมลงในเนื้อสับที่จะทำลาบเนื้อหมูหรือลาบเนื้อ โดยจะช่วยทำให้ลาบนั้นนุ่มเหนียวยิ่งขึ้น อาจมีคนสงสัยว่ามะเขือขื่นที่ทั้งเหนียวและขื่นจะมีรสชาติอร่อยได้อย่างไร เพราะต่างจากมะเขือทั่วไปที่มีความกรอบและความหวาน แต่ด้วยภูมิปัญญาบวกกับฝีมือคนไทย จึงทำให้ความขื่นและความเหนียวกลายเป็นอาหารที่อร่อยมีเอกลักษณ์ไปได้ เช่นเดียวกับชะอมที่ยังคงเป็นเสน่ห์สำหรับคนไทยนั่นเอง
- มะเขือขื่นอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด โดยคุณค่าทางโภชนาการของมะเขือขื่น ต่อ 100 กรัม จะประกอบไปด้วย วิตามินซี 63 มิลลิกรัม, แคลเซียม 55 มิลลิกรัม, ฟอสฟอรัส 22 มิลลิกรัม ฯลฯ
ขอบคุณข้อมูลดีๆจากประโยชน์มะเขือขื่น
ฝากกดติดตาม/หรือกดถูกใจเพจ Facebook สองพี่น้องอินทรีย์ฟาร์ม ของเราด้วยนะคะ